Umberto II (1904–1987)

พระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๔๗–๒๕๓๐)

 พระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๒ ทรงเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชอาณาจักรอิตาลี และครองราชย์สั้นที่สุดเพียง ๓๔ วัน ทรงเป็นสมาชิกของราชวงศ์ซาวอย (Savoy)* ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่มีอำนาจปกครองที่เก่าแก่ที่สุดราชวงศ์หนึ่งในยุโรป ทรงครองราชสมบัติอิตาลีหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* สิ้นสุดลง เมื่อพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ (Victor Emmanuel III)* พระราชบิดาที่ครองราชย์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ และถูกชาวอิตาลีประณามว่านำพาประเทศไปสู่หายนะโดยเข้าร่วมรบกับฝ่ายเยอรมนี จนทนแรงกดดันไม่ไหวและต้องสละราชสมบัติภายหลังสงครามสิ้นสุด แต่ก็ไม่อาจแก้ไขสถานการณ์การต่อต้านระบอบกษัตริย์ในอิตาลีได้ และเมื่อผลประชามติออกมาว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐก็ทำให้พระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๒ ที่เพิ่งขึ้นครองราชย์เมื่อ วันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ ต้องสิ้นสุดบทบาทการเป็นพระประมุขของราชอาณาจักรอิตาลีเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๗ ทำให้ต่อมาพระองค์ได้พระสมัญญาว่า “กษัตริย์เดือนพฤษภาคม” (May King) และเสด็จลี้ภัยไปประทับในต่างประเทศและไม่สามารถกลับมายังปิตุภูมิได้อีก

 พระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๒ เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ และสมเด็จพระราชินีเอเลนา (Elena) อดีตเจ้าหญิงแห่งมอนเต-เนโกร ประสูติเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ค.ศ. ๑๙๐๔ ณ ปราสาทไรโกนีจี (Raiconigi) ทางตอนใต้ของนครตูริน (Turin) พระนามตั้งตามพระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๑ (Umberto I)* พระอัยกา มีพระเชษฐภคินี ๒ พระองค์และพระกนิษฐา ๒ พระองค์ เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงมีพระวรกายสมบูรณ์และน่ารักน่าเอ็นดูจนได้พระนามว่า “บีโป้” (Bipo) จากอดีตสมเด็จพระราชินีมาร์เกรีตา (Margherita) พระอัยกี ซึ่งทรงชื่นชมพระราชนัดดาพระองค์นี้เป็นอย่างยิ่ง ในวันที่ ๒๙ กันยายน ทรงได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเป็นเจ้าชายแห่งปีดมอนต์ (Prince of Piedmont) และดำรงฐานันดรศักดิ์มกุฎราชกุมารแห่งอิตาลี

 เมื่อเจริญพระชันษา เจ้าชายอุมแบร์โตทรงมีพระวรกายสง่างาม ผิดกับพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ที่มีพระวรกายสูงเพียง ๑๕๓ เซนติเมตรเท่านั้นในฐานะมกุฎราชกุมารของราชอาณาจักรอิตาลี แม้จะเป็นดินแดนเก่าแก่และผู้นำของอารยธรรม แต่ก็เป็นราชอาณาจักรใหม่เมื่อเทียบกับราชอาณาจักรอื่น ๆในยุโรปขณะนั้น ดังนั้น พระองค์จึงเป็นที่คาดหวังที่จะนำพาอิตาลีไปสู่ความยิ่งใหญ่และเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของยุโรป เจ้าชายอุมแบร์โตทรงได้รับการถวายการศึกษาอย่างดี โดยเฉพาะในด้านวิชาการทหาร ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยแห่งนครตูรินใน ค.ศ. ๑๙๒๓ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพภาคเหนือ (Northern Armies) และต่อมาเป็นแม่ทัพภาคใต้ (Southern Armies)

 อย่างไรก็ตาม การที่พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ทรงจำกัดบทบาทพระองค์ในฐานะกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดและหลีกเลี่ยงปัญหาการเมืองมาโดยตลอด การก้าวเข้ามามีอำนาจของเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* หัวหน้าพรรคฟาสซิสต์ (Fascism)* หลังเหตุการณ์การเดินขบวนสู่กรุงโรม (March on Rome)* ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ ที่อาจก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองได้ทำให้พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ต้องยินยอมแต่งตั้งมุสโสลีนีเป็นนายกรัฐมนตรี ในเวลาไม่ช้า มุสโสลีนีก็กลายเป็นผู้นำที่มีอำนาจสูงสุดของอิตาลีขณะเดียวกัน เจ้าชายอุมแบร์โตซึ่งมีบทบาททางการเมืองอย่างจำกัดตามประเพณีนิยมของราชวงศ์ซาวอยที่ยึดถือปฏิบัติที่เรียกว่า “Savoyards’ Tradition” ในการมี “สมาชิกราชวงศ์ซาวอยพระองค์เดียวเท่านั้นครองบัลลังก์ในแต่ละรัชสมัย” (only one savoy reigns at a time) ที่ไม่ให้สมาชิกของราชวงศ์มีอำนาจซ้ำซ้อนกันหรือแข่งบารมีกับประมุข จึงทำให้พระองค์ไม่มีบทบาททางทหารหรือแม้แต่อำนาจทางการเมืองเลย การบัญชาการกองทัพก็ตกเป็นของมุสโสลีนีโดยพฤตินัย อีกทั้งมุสโสลีนีและพระองค์ก็ยังได้ตกลงกันว่าจะเว้นระยะห่างทั้งในความสัมพันธ์และการใช้อำนาจในทางการเมืองและการบังคับบัญชากองทัพ

 ในด้านการหาคู่เสกสมรสที่เหมาะสมคู่ควรจะได้รับพระอิสริยยศสมเด็จพระราชินีแห่งราชอาณาจักรอิตาลีในอนาคตนั้น พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ทรงจัดให้เจ้าชายอุมแบร์โตเสกสมรสกับเจ้าหญิงมารี โชเซ (Marie José) พระราชธิดาในพระเจ้าอัลเบิร์ตที่ ๑ (Albert I)* กษัตริย์ของชาวเบลเยียม ขณะเสด็จไปเบลเยียมเพื่อประกอบพิธีหมั้นนั้น เจ้าชายอุมแบร์โตก็ทรงถูกแฟร์นันโด เด โรซา (Fernando de Rosa) นักสังคมนิยมและสมาชิกขององค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ (Second International)* ซึ่งต่อต้านระบบฟาสซิสต์พยายามลอบสังหารขณะเสด็จไปวางพวงมาลา ณ สุสานทหารนิรนามโกลอนดูกงแกร็ส (Colonne du Congrès) ในกรุงบรัสเซลส์ เจ้าชายอุมแบร์โตทรงปลอดภัยจากกระสุนสังหาร และโรซาก็ถูกจับกุมได้และถูกพิพากษาจำคุก ๕ ปี ซึ่งเป็นการลงโทษสถานเบาที่ไม่เหมาะสมกับโทษฐานที่พยายามลอบปลงพระชนม์รัชทายาทของราชอาณาจักรอิตาลีก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอิตาลี และความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นระหว่าง ๒ ประเทศ ไปในระยะหนึ่ง อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาเจ้าชายอุมแบร์โตทรงพยายามกู้สถานการณ์ โดยขอให้เบลเยียมลดโทษให้แก่โรซา ซึ่งต่อมาทำให้เขาได้รับอิสรภาพหลังจากการได้รับโทษเพียง ๒ ปีเศษเท่านั้น

 พระราชพิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าชายอุมแบร์โตกับเจ้าหญิงมารีได้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ พระราชวังกวีรีนาเล (Quirinale Palace) ในกรุงโรม โดยเจ้าบ่าวเป็นผู้ออกแบบชุดเจ้าสาวเอง การเฉลิมฉลองมีติดต่อกันถึง ๑ สัปดาห์ มีสมาชิกของราชวงศ์ต่าง ๆ และแขกรับเชิญร่วมงานพระราชพิธีกว่า ๕,๐๐๐ คน ท่ามกลางเสียงร่ำลือว่าเจ้าชายอุมแบร์โตทรงมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ ซึ่งในเวลาต่อมาก็มี “คู่รัก” ที่เป็นเพศเดียวกันซึ่งมีทั้งนายทหาร นักแสดง และอื่น ๆ ได้เปิดเผยตัวและมีบันทึกต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างพวกเขากับเจ้าชายอุมแบร์โตอย่างไรก็ดี แม้ทั้ง ๒ พระองค์จะมีชีวิตสมรสที่ห่างเหินกันและมักแยกที่ประทับกัน แต่ก็ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดาร่วมกันรวม ๔ พระองค์ ได้แก่ เจ้าหญิงมาเรีย ปีอา (Maria Pia) เจ้าชายวิกเตอร์ เอมมานูเอล เจ้าชายแห่งเนเปิลส์ (Victor Emanuel, Prince of Naples) เจ้าหญิงมาเรีย กาเบรียลลา (Maria Gabriella) และเจ้าหญิงมาเรีย เบียตรีเช (Maria Beatrice)

 ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ เมื่อเยอรมนีที่มีอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* เป็นผู้นำ ได้บุกโปแลนด์ซึ่งนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ อิตาลีซึ่งมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับเยอรมนีด้วยสนธิสัญญามิตรภาพแกนร่วมโรม-เบอร์ลิน-โตเกียว (RomeBerlin-Tokyo Axis ค.ศ. ๑๙๓๗) และใช้ชื่อว่ามหาอำนาจอักษะ (Axis Powers)* รวมทั้งการที่เยอรมนีสนับสนุนการขยายอำนาจของอิตาลีและการสถาปนาพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ขึ้นเป็นกษัตริย์แอลเบเนียในกลาง ค.ศ. ๑๙๓๙ ก็เข้าร่วมสงครามกับฝ่ายเยอรมนีด้วย อย่างไรก็ดี ในระยะแรกอิตาลีไม่ได้เข้าร่วมสงครามในทันทีเพราะความไม่พร้อมหลาย ๆ ด้าน แต่เมื่อมุสโสลีนีตัดสินใจเข้าสู่สงครามใน ค.ศ. ๑๙๔๐ พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ก็มิได้ทรงคัดค้าน ส่วนเจ้าชายอุมแบร์โตทรงได้รับแต่งตั้งเป็นแม่ทัพของกองทัพกลุ่มตะวันตกที่ประกอบด้วยกองกำลังทหารหน่วยที่ ๑ หน่วยที่ ๔ และหน่วยที่ ๗ ซึ่งมีบทบาทในการโจมตีกองกำลังฝรั่งเศสเมื่อกองทัพอิตาลีบุกโจมตีฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี หลังจากที่ฝรั่งเศสยอมจำนนต่อกองกำลังฝ่ายอักษะแล้ว เจ้าชายอุมแบร์โตก็ทรงหมดบทบาทและมุสโสลีนีก็มิได้แต่งตั้งให้พระองค์บังคับบัญชากองกำลังอีก ต่อมา ในวันที่ ๒๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ เจ้าชายอุมแบร์โตทรงได้รับแต่งตั้งเป็นจอมพลแห่งอิตาลี

 ในกลาง ค.ศ. ๑๙๔๓ เมื่ออิตาลีเพลี่ยงพล้ำในสงคราม รวมทั้งฝ่ายพันธมิตรมีชัยชนะในการรบในแอฟริกาตอนเหนือ (North African Campaigns)* และเข้ายึดครองซิซิลี (Sicily) ของฝ่ายกองกำลังอักษะได้ มีผลให้พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ซึ่งโดนประชาชนกดดัน จึงทรงปลดมุสโสลีนีออกจากตำแหน่งผู้นำและสั่งคุมขัง ทำให้ระบบฟาสซิสต์ถูกทำลายลง ขณะเดียวกัน พระองค์ยังทรงแสดงทีท่าจะให้ความร่วมมือกับฝ่ายพันธมิตรอีกด้วย ซึ่งสร้างความโกรธแค้นให้แก่ฮิตเลอร์เป็นอย่างมาก นอกจากนั้นเจ้าหญิงมารี โชเซก็ทรงพยายามดำเนินการให้สหรัฐอเมริกาแยกทำสนธิสัญญาสงบศึกกับอิตาลีโดยมีโจวันนี บัตติสตา มอนตีนี (Giovanni Battista Montini) นักบวชและนักการทูตอาวุโส ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็นสันตะปาปาปอลที่ ๖ (Paul VI) เป็นคนกลาง อย่างไรก็ดี ความพยายามของพระองค์ซึ่งเกินกว่าหน้าที่กลับล้มเหลวและไม่ได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ และเจ้าชายอุมแบร์โต พระองค์ไม่มีโอกาสได้พบกับตัวแทนของสหรัฐอเมริกาและทรงถูกส่งตัวพร้อมกับพระโอรสและธิดาไปประทับ ณ เมืองซาร์เร (Sarre) ในหุบเขา อาออสตา (Aosta Valley) การกระทำของเจ้าหญิงมารี โชเซแม้ว่าจะเป็นการละเมิดประเพณีของราชวงศ์ซาวอยที่ไม่อนุญาตให้พระราชวงศ์มีส่วนยุ่งเกี่ยวในทางการเมือง แต่ก็ทำให้พระองค์ได้รับความเห็นใจจากประชาชนชาวอิตาลีรักชาติเป็นอันมาก ขณะเดียวกันการที่เจ้าชายอุมแบร์โตไม่ได้แสดงทีท่าประการใดจึงทำให้เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าชายอุมแบร์โตกับคนรักเพศเดียวกันและความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกับพระชายาเป็นที่โจษจันกันมากขึ้น มีผลให้ประชาชนคลายความจงรักภักดีต่อเจ้าชายอุมแบร์โต

 อย่างไรก็ดี อิตาลีก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์สงครามต่อไป ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวอิตาลีอย่างมาก ต่อมา ในวันที่ ๘ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๓ แม้พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ทรงประกาศสงบศึกกับฝ่ายพันธมิตร แต่ขณะเดียวกันมุสโสลีนีสามารถหนีออกจากที่คุมขังและไปจัดตั้งสาธารณรัฐซาเลาะ (Republic of Salò) ทางตอนเหนือของอิตาลีภายใต้การอารักขาของเยอรมนี ทำให้อิตาลียังคงต้องเผชิญกับภาวะสงครามต่อไป ประชาชนจำนวนมากก็ยังโกรธแค้นพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ที่มิทรงใช้พระราชอำนาจจัดการมุสโสลีนีอย่างเด็ดขาดก่อนหน้านี้ ในช่วงที่มุสโสลีนีเป็นผู้นำของรัฐบาลอิตาลีเป็นเวลาร่วม ๒ ทศวรรษ และนำพาอิตาลีเข้าสู่สงคราม

 พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ในวัย ๗๔ พรรษา ทรงพยายามลดแรงกดดันทางการเมือง โดยทรงถ่ายโอนพระราชอำนาจทั้งปวงตามรัฐธรรมนูญคงไว้เพียงแต่พระราชอิสริยยศกษัตริย์แห่งอิตาลีและมอบพระราชอำนาจให้แก่เจ้าชายอุมแบร์โตในการบริหารประเทศ และแต่งตั้งให้พระองค์เป็น “Lieutenant General of the Realm” ซึ่งเทียบเท่ากับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ แม้เจ้าชายอุมแบร์โตจะทรงพยายามสุดความสามารถในการรักษาพระราชอำนาจของราชวงศ์ซาวอยในการปกครองอิตาลี แต่ภาพลักษณ์ของพระองค์ที่ห้อมล้อมด้วยข้าราชบริพารและสหายหนุ่มผู้ใกล้ชิดที่พระองค์พระราชทานเครื่องหมายเฟลอร์เดอลี (fleur-de-lis) ประดับอัญมณีล้ำค่าแก่พวกเขา จึงทำให้คนทั่วไปต่างมองเห็นความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างพระองค์กับผู้ใกล้ชิดเหล่านั้น และกลายเป็นหัวข้อนินทาของประชาชนที่ทำให้พระเกียรติยศของราชวงศ์ซาวอยเสื่อมเสีย

 หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ อิตาลีซึ่งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงครามก็เผชิญปัญหาการบูรณะฟื้นฟูประเทศเพราะสนธิสัญญาปารีสซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๗ ทำให้อิตาลีถูกลดกำลังอาวุธและถูกควบคุมทางทหาร ทั้งยังสูญเสียอาณานิคมในแอฟริกาและดินแดนที่เคยยึดครองทั้งหมด ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมากแก่สหภาพโซเวียตอะบิสซิเนีย (Abyssinia) และหลายประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน สหรัฐอเมริกาซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปลดปล่อยอิตาลีและเข้าควบคุมการปกครองประเทศจึงให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่อิตาลีในแผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan)* และสนับสนุนให้พรรคคริสเตียนประชาธิปไตย (Christian Democratic Party)* ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองใหญ่ ๓ พรรค ที่ก่อตั้งขึ้นภายหลังสงครามได้อำนาจทางการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๖ แม้พรรคคริสเตียนประชาธิปไตยจะมีชัยชนะเหนือพรรคสังคมนิยมและพรรคคอมมิวนิสต์แต่ก็ไม่ได้เสียงเด็ดขาด เพราะได้คะแนนเสียงเพียง ๒ ใน ๕ ของผู้ออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมด อย่างไรก็ดีพรรคคริสเตียนประชาธิปไตยก็ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและอัลชีเด เด กัสเปรี (Alcide de Gasperi)* ผู้นำพรรคที่ฉลาด มีระเบียบวินัย และวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ก็สามารถทำให้พรรคคริสเตียนประชาธิปไตยมีอำนาจทางการเมืองได้ยาวนาน ในช่วงเวลาเดียวกันการต่อต้านระบบกษัตริย์ก็ปรากฏให้เห็นเด่นชัดมากขึ้น และรัฐบาลเองก็ดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติในการจะดำรงสถาบันกษัตริย์ต่อไปหรือไม่

 พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ทรงหวังว่าจะสามารถแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น ด้วยการตัดสินพระทัยสละราชสมบัติในวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ ก่อให้เกิดการผลัดเปลี่ยนบัลลังก์ขึ้นในอิตาลีโดยเจ้าชายอุมแบร์โตมกุฎราชกุมารทรงขึ้นครองราชย์ต่อเป็นพระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๒ อย่างไรก็ดี ผลการลงประชามติในเวลาต่อมากลับมีผู้ที่เห็นด้วยในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐเป็นจำนวนร้อยละ ๕๕ พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ อดีตกษัตริย์เสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศ ในปีรุ่งขึ้นก็เสด็จสวรรคต ณ เมืองอะเล็กซานเดรีย (Alexandria) ประเทศอียิปต์

 ในวันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๖ ราชอาณาจักรอิตาลีก็สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ โดยพระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๒ ซึ่งทรงได้รับพระสมัญญาในเวลาต่อมาว่า “กษัตริย์เดือนพฤษภาคม” ทรงครองราชย์ได้เพียง ๓๔ วัน พระองค์ทรงมอบพระราชอำนาจทั้งหมดที่ทรงมีอยู่ตามรัฐธรรมนูญให้แก่นายกรัฐมนตรีอัลชีเด เด กัสเปรี และเรียกร้องให้ประชาชนชาวอิตาลีให้การสนับสนุนระบอบสาธารณรัฐด้วย หลังจากนั้นก็เสด็จลี้ภัยไปประทับยังคัสไคส์ (Cascais) ชานกรุงลิสบอนประเทศโปรตุเกส ซึ่งราชวงศ์ซาวอยมีทรัพย์สินที่นั่นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเคานต์แห่งซาร์เร (Count of Sarre) ส่วนสมเด็จพระราชินีมารี โชเซ พร้อมพระราชโอรสและพระราชธิดาไม่ได้เสด็จไปประทับที่โปรตุเกสด้วย และออกจากกรุงโรมไปก่อนหน้านั้นแล้วซึ่งต่อมาเสด็จลี้ภัยไปประทับในเม็กซิโก ส่วนทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ของราชวงศ์ถูกรัฐบาลยึด นับเป็นการสิ้นสุดของราชวงศ์ซาวอยที่มีบทบาทสำคัญในการรวมชาติและสถาปนาราชอาณาจักรอิตาลีใน ค.ศ. ๑๘๖๑ และปกครองอิตาลีมาเป็นเวลา ๘๕ ปี

 ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ ประธานาธิบดีซันโดร แปร์ตีนี (Sandro Pertini) ได้พยายามให้รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่ออนุญาตให้พระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๒ อดีตกษัตริย์ที่ทรงพระประชวรสามารถเสด็จนิวัติสู่อิตาลีได้ แต่ก็ล้มเหลว พระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๒ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๘๗ ณ กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ สิริพระชนมายุ ๗๘ พรรษา พระศพได้รับการฝัง ณ สุสานในวิหารโอตกงบ์ (Haute Combe Abbey) ในเมืองซาวอย ประเทศฝรั่งเศส ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นดินแดนในปกครองของราชวงศ์ซาวอย ซึ่งเป็นสถานที่ฝังพระศพของสมาชิกราชวงศ์ซาวอยมานานนับศตวรรษ มีกษัตริย์ ราชินี และพระราชวงศ์ต่าง ๆ ทั่วยุโรปไปร่วมในพิธีพระศพ แต่รัฐบาลอิตาลีก็ไม่ได้ส่งผู้แทนอย่างเป็นทางการไปร่วมด้วยแม้แต่คนเดียว

 อย่างไรก็ดี แม้อิตาลีจะเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว แต่เพื่อเป็นการลงโทษราชวงศ์ซาวอยที่ให้การสนับสนุนเบนีโต มุสโสลีนี ผู้นำลัทธิฟาสซิสต์ซึ่งนำชาติไปสู่ความล่มจมและความอัปยศในสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐอิตาลีจึงห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือเพิ่มเติมบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเพื่อรื้อฟื้นระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ ทั้งยังห้ามมิให้รัชทายาทชายของราชวงศ์ซาวอยทุกพระองค์เดินทางเข้าอิตาลี รวมถึงอดีตสมเด็จพระราชินี แต่ขณะเดียวกันตระกูลมุสโสลีนีกลับไม่ได้รับผลกระทบจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและยังสามารถพำนักในอิตาลีต่อไปได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอคติและการต่อต้านระบอบกษัตริย์ในอิตาลีอย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาข้อห้ามดังกล่าวก็ถูกยกเลิกใน ค.ศ. ๒๐๐๒ โดยเจ้าชายวิกเตอร์ เอมมานูเอล เจ้าชายแห่งเนเปิลส์พระราชโอรสพระองค์เดียวในพระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๒ ทรงยินยอมสละสิทธิ์ต่าง ๆ ในการเรียกร้องหรือการสืบทอดราชบัลลังก์อิตาลีเพื่อแลกกับสิทธิในการเดินทางเข้าอิตาลี ต่อมาใน ค.ศ. ๒๐๐๗ คณะทนายความซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าชายวิกเตอร์ เอมมานูเอล เจ้าชายแห่งเนเปิลส์ และเอมมานูเอล ฟีลีแบร์ (Emmanuel Philibert) โอรสก็ได้ยื่นจดหมายต่อประธานาธิบดีจอร์โจ นาโปลีตาโน (Giorgio Napolitano) เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายระหว่างที่สมาชิกราชวงศ์ต้องใช้ชีวิตลี้ภัยในต่างแดน เอมมานูเอลฟีลีแบร์ยังให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์เรียกร้องสิทธิความเป็นเจ้าของวังกวีรีนาเลและตำหนักอาดา (Villa Ada) อีกด้วย แต่รัฐบาลอิตาลีปฏิเสธที่จะรับฟังทั้งยังออกเอกสารทางการว่าราชวงศ์ซาวอยไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ ในขณะลี้ภัยในต่างประเทศแต่อิตาลีต่างหากที่เป็นฝ่ายได้รับความเสียหายจากราชวงศ์ซาวอยที่ให้ความร่วมมือและสมรู้ร่วมคิดกับมุสโสลีนีขณะที่มีอำนาจปกครองในประเทศนี้.



คำตั้ง
Umberto II
คำเทียบ
พระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๒
คำสำคัญ
- กษัตริย์เดือนพฤษภาคม
- กัสเปรี, อัลชีเด เด
- การเดินขบวนสู่กรุงโรม
- การรบในแอฟริกาตอนเหนือ
- แกนร่วมโรม-เบอร์ลิน
- แผนมาร์แชลล์
- พรรคคริสเตียนประชาธิปไตย
- พรรคฟาสซิสต์
- มหาอำนาจอักษะ
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ลัทธิฟาสซิสต์
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาปารีส
- สนธิสัญญามิตรภาพ
- สหภาพโซเวียต
- สัญญาสงบศึก
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1904–1987
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๔๗–๒๕๓๐
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-